พิธีดำหัวอธิการบดี

พิธีรดน้ำดำหัว

          ประเพณีสงกรานต์ เป็นเทศกาลสำคัญของคนไทย ตามคตินิยมทั่วไปถือตามคติโหราศาสตร์มีเกณฑ์กำหนดอยู่ 3 วันคือ วันมหาสงกรานต์ วันเนา และวันเถลิงศกทางภาคเหนือจะเพิ่มวันปากปี วันปากเดือน และวันปากวันเข้ามา รวมเป็น 6 วันด้วยกัน ใช้เวลาฉลองกันยาวนานห้าถึงหกวัน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน ของทุกปี วันมหาสงกรานต์ ชาวล้านนาเรียกว่า วันสังขารล่อง หมายถึง วันที่ปีเก่ากำลังจะสิ้นไป  วันนี้ชาวล้านนาจะช่วยกันทำความสะอาด บ้านเรือน ตลอดจนเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม มีการสรงน้ำพระพุทธรูป   และพากันสรงน้ำพระพุทธที่วัด ด้วยการพรมด้วยน้ำอบ น้ำหอม หรือน้ำขมิ้นส้มป่อย จารีตปฏิบัติเหล่านี้ ทำเพื่อขับไล่สิ่งที่ไม่เป็นมงคลออกไป   

          ในวันถัดมา คือวันเนา วันเน่า หรือวันดา เป็นวันที่ห้ามกระทำสิ่งอันไม่เป็นมงคล โดยเฉพาะการด่าทอ ทะเลาะวิวาทกัน เป็นวันจัดเตรียมอาหาร ขนม เครื่องไทยทาน ตุง หรือธง เพื่อนำไปวัด ในวันรุ่งขึ้น ในช่วงบ่ายมีการขนทรายเข้าวัดและก่อเจดีย์ทราย  ด้วยเชื่อว่าเป็นการนำทรายกลับคืนทดแทน ส่วนที่ติดเท้าของตนออกมาเมื่อไปวัดแต่ละครั้ง

          วันต่อมา คือวันพญาวัน ถือเป็นวันสำคัญที่สุดในเทศกาลมหาสงกรานต์นี้ ถือเป็นวันเถลิงศกใหม่ ชาวบ้านจะไปทำบุญที่วัด โดยนำสำรับภัตตาหารและเครื่องไทยทาน ไปถวายพระ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ต่อจากนั้นจะนำตุงหรือธงไปปักลงบนเจดีย์ทราย ช่วงบ่ายประชาชนจะเริ่มออกไปรดน้ำดำหัวผู้เฒ่า ผู้แก่ และผู้มีพระคุณ ด้วยการนำน้ำที่มีขมิ้น ส้มป่อย ดอกไม้แห้ง และน้ำอบ พร้อมด้วยดอกไม้ ธูปเทียน อาหาร ผลไม้ เสื้อผ้าหรือของขวัญไปมอบให้ท่านเหล่านั้น เพื่อขอขมาลาโทษ และขอรับพร น้ำในขันเงินที่นำไปมอบให้นั้น ก็เพื่อให้ญาติผู้ใหญ่นำไปใช้ ดำหัว หรือสระผม หลังจากผู้ใหญ่ให้พร ก็จะนำน้ำนั้นมาลูบผมเพื่อเป็นสิริมงคลต่อไป

          การดำหัว ในความหมายทั่วไปของชาวล้านนาหมายถึง “สระผม” แต่ในพิธีกรรม โดยเฉพาะในเทศกาลสงกรานต์ของทุกๆ ปี หมายถึง การชำระสะสางสิ่งอันเป็นอัปมงคลในชีวิตให้หมดไป ด้วยการใช้น้ำส้มป่อยเป็นเครื่องชำระ พิธีกรรมในการดำหัวในเทศกาลสงกรานต์ล้านนา มี 3 กรณี คือ กรณีแรก ดำหัวตนเอง คือทำพิธีเสกน้ำส้มป่อยด้วยคำที่เป็นสิริมงคล เช่น “สัพพทุกขา สัพพภยา สัพพโรคาวินาสันตุ” แล้วใช้น้ำส้มป่อยลูบศีรษะ

กรณีที่สอง ดำหัวผู้น้อย เช่น ภรรยา บุตร หลาน อันเป็นพิธีกรรมต่อเนื่องจากกรณีแรก คือ ใช้น้ำส้มป่อยลูบหัวภรรยา บุตร หลาน หลังจากดำหัวตนเอง

          กรณีที่สาม ดำหัวผู้ใหญ่ เช่น บิดา มารดา ครู อาจารย์ พระเถร ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นต้น กรณีนี้อาจไปดำหัวด้วยตนเอง บางครั้งอาจพาญาติพี่น้องไปเป็นกลุ่ม หรือไปเป็นตณะโดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่เป็นที่เคารพนับถือของชุมชน การดำหัวในกรณีที่สามนี้ ถือเป็นประเพณีที่สำคัญยิ่ง ถือได้ว่าเป็นประเพณีที่สามารถจรรโลงความสันติสุขให้กับสังคมได้เป็นอย่างดี การดำหัวผู้ใหญ่ด้วยตนเองอาจจะไม่มีพิธีรีตองมากนัก แต่การดำหัวผู้ใหญ่ที่ต้องไปเป็นหมู่คณะ ย่อมมีกิจกกรมที่ซับซ้อนมากขึ้น

การดำหัวผู้ใหญ่ที่ไปเป็นหมู่คณะ

          เมื่อทุกคนไปรวมกลุ่มกันตามที่นัดหมายแล้วจึงเคลื่อนขบวนมีการแห่แหนด้วยฆ้อง กลอง เป็นที่ครึกครื้นบางแห่งมีการแสดงร่วมขบวนด้วย เช่น การฟ้อนเชิง ฟ้อนดาบ ตีกลองสะบัดชัย ดนตรีประเภท สะล้อ ซึง ฯลฯ ระหว่างทางมีการรดน้ำกันอย่างสนุกสนาน เครื่องที่นำไปดำหัวที่ถือได้ก็ช่วยกันถือไป เช่น สลุงน้ำส้มป่อย ต้นดอก ต้นเทียน พานข้าวตอกดอกไม้ เครื่องที่หนักก็จะใส่แคร่ที่ภาษาล้านนาเรียก “จองอ้อย” หามกันไป

เครื่องดำหัว

          สิ่งของต่างๆ ที่นำไปดำหัวนอกจากจะมีน้ำส้มป่อยพานข้าวตอกดอกไม้แล้วยังมีเครื่องอุปโภคบริโภคไปเป็นเครื่องสักการะ เครื่องอุปโภคที่นิยมกันส่วนใหญ่จะเป็นผ้า เช่น ผ้าขะม้า เสื้อ ผ้าถุง ผ้าเช็ดหน้า เป็นต้น ส่วนเครื่องบริโภคมักจะเป็นพืชผลทางการเกษตร เช่น ฟักแฟง แตงโม กระเทียม หัวหอม มะเขือ สิ่งของประเภทผลไม้ตามฤดูกาล เช่น มะปราง มะม่วง มะพร้าว เป็นต้นเครื่องดำหัวต่าง ๆ ดังกล่าวนิยมใส่รวมกันใน “ชองอ้อย” (อ่านว่า-จองอ้อย)

          เครื่องดำหัวบางประเภทอาจมีประโยชน์ใช้สอยน้อย หรือบางประเภทอาจไม่ได้ใช้เลย เพราะหมดสมัยแต่ก็ยังนิยมนำไปดำหัวกันอยู่เพราะถือเป็นเครื่องสักการะที่มีมาแต่โบราณ เช่น

– ต้นดอก คือพุ่มดอกไม้ที่ประกอบด้วยดอกไม้นานาชนิด

– ต้นเทียน คือพุ่มเทียน

– ต้นผึ้ง คือพุ่มขี้ผึ้ง

– หมากสุ่ม คือ พุ่มหมากแห้งที่ประดับด้วยหมากแห้งผ่าซีก

– หมากเบ็ง คือพุ่มหมากดิบที่ประดับด้วยหมากดิบเป็นลูกๆ

          มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ร่วมสืบสานประเพณีวัฒนธรรมล้านนา โดยจัดพิธีรดน้ำดำหัวขอพร อธิการบดีและคณะผู้บริหารอาวุโสของมหาวิทยาลัยทุกปี โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544  เป็นต้นมา พิธีเริ่มจากอธิการบดีพร้อมด้วยผู้บริหารมหาวิทยาลัยร่วมสรงน้ำพระพุทธรูป เพื่อเป็นสิริมงคล หลังจากนั้น อธิการบดีกล่าวอวยพรเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ ตามปฎิทินไทยและล้านนา  หลังจากนั้นคณาจารย์ พนักงานมหาวิทยาลัย ซึ่งร่วมกันอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี สวมเสื้อหม้อฮ่อมและชุดพื้นเมืองเข้าร่วมรดน้ำดำหัวขอพรจากอธิการและผู้บริหารมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังมีผู้นำชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัย อันได้แก่ ตำบลท่าสุด ตำบลแม่ข้าวต้ม ตำบลริมกก และตำบลนางแล พร้อมด้วยตัวแทนชาวบ้านกลุ่มต่างๆ มาร่วมอวยพรกันอย่างคับคั่ง ด้วยบรรยากาศที่เป็นกันเอง