เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเจริญพระชนมายุ 50 พรรษา ในปี 2548 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยดำริของรองศาสตราจารย์ ดร.วันชัย ศิริชนะ ครั้งดำรงตำแหน่งอธิการบดีได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดสร้างพระเจ้าล้านทองเพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ โดยได้ขอพระราชทานนามว่า “พระเจ้าล้านทอง เฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาต และโปรดเกล้าฯให้อัญเชิญพระเจ้าล้านทองเฉลิมพระเกียรติฯ มาประดิษฐานเป็นพระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและเป็นที่สักการะของพนักงาน นักศึกษา ตลอดจนพุทธศาสนิกชนทั่วไป พระเจ้าล้านทองเฉลิมพระเกียรติฯ เป็นพระพุทธรูปโลหะหล่อด้วยบรอนซ์ ปางมารวิชัยนั่งขัดสมาธิราบ พระรัศมีเป็นดอกบัวตูมอยู่ภายในเปลวเพลิง จำลองแบบมาจากพระเจ้าล้านทอง พระประธานในพระอุโบสถวัดพระแก้ว (พระอารามหลวง) อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย โดยย่อส่วนลงให้มีขนาดร้อยละ 90 ขององค์จริง มีขนาดหน้าตักกว้าง 1 เมตร 90 เซนติเมตร ความสูงจากฐานถึงยอดพระรัศมี 2 เมตร 20 เซนติเมตร รอบพระเศียร 1 เมตร 45 เซนติเมตร มีอักษรย่อพระนามาภิไธย “ส.ธ.” ประดิษฐานบนผ้าทิพย์
มหาวิทยาลัยได้มอบหมายให้พันโท นภดล สุวรรณสมบัติ ประติมากรผู้ปั้นพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีดําเนินการจัดทําพระพุทธรูปต้นแบบ และได้ขอพระราชทานกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดําเนินทรงเททองหล่อพระพุทธรูปพระเจ้าล้านทอง เฉลิมพระเกียรติฯ ณ มณฑลพิธีที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 แ ละหลังจากนั้นได้จัดพิธีมหาพุทธาภิเษกครั้งใหญ่ยิ่งที่สุดในล้านนา ณ อาคารกีฬาเฉลิมพระเกียรติ เมื่อวันที่ 18-19 พฤษภาคม พุทธศักราช 2550
เหรียญและพระพุทธรูป พระเจ้าล้านทองเฉลิมพระเกียรติฯ
เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้มีโอกาสบูชาสักการะพระเจ้าล้านทองเฉลิมพระเกียรติฯ ด้วย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงจึงได้ดำเนินการจัดสร้างเหรียญพระเจ้าล้านทองเฉลิมพระเกียรติและพระพุทธรูปพระเจ้าล้านทองขนาดต่าง ๆ ดังนี้
- เหรียญขนาด 3 เซนติเมตร ราคาบูชาเหรียญละ 59 บาท
- พระเจ้าล้านทองย่อส่วนขนาดความสูง 3 เซนติเมตร แบบลอยองค์ ราคาบูชาองค์ละ 109 บาท
- พระเจ้าล้านอง ขนาดหน้าตัก 5 นิ้ว ราคาบูชาองค์ละ 3,999 บาท
- พระเจ้าล้านทอง ขนาดหน้าตัก 9 นิ้ว ราคาบูชาองค์ละ 9,999 บาท
ทั้งนี้ได้มอบหมายให้ นายสิงห์ ดิษฐพันธุ์ ผู้หล่อพระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ ณ พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เป็นผู้ดำเนินการ และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้นำเหรียญและพระพุทธรูปทั้งหมดนี้เข้าในพิธีมหาพุทธาภิเษกพระเจ้าล้านทองเฉลิมพระเกียรติฯ ด้วย
รายได้ทั้งหมดที่พุทธศาสนิกชนร่วมบูชาในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยได้นำไปร่วมในการจัดสร้างวิหารพระเจ้าล้านทองเฉลิมพระเกียรติฯ
วิหารพระเจ้าล้านทองเฉลิมพระเกียรติฯ
เพื่อให้พระเจ้าล้านทอง เฉลิมพระเกียรติฯ ที่ได้จัดสร้างขึ้น มีสถานที่ประดิษฐานที่เหมาะสม และสามารถประกอบพิธีทางศาสนาได้โดยสะดวก รองศาสตราจารย์ ดร. วันชัย ศิริชนะ จึงได้ดําริให้มีการจัดสร้างวิหารขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐาน โดยในการจัดหาที่ตั้งของวิหารนั้น รองศาสตราจารย์ ดร.วันชัย ศิริชนะ ได้สำรวจพื้นที่ในมหาวิทยาลัยเพื่อหาตำแหน่งที่เหมาะสมร่วมกับคุณสงคราม ชีวประวัติดำรงค์ กรรมการสภามหาวิทยาลัย และเห็นพ้องต้องกันว่า วิหารควรอยู่ในตำแหน่งสูงที่สุดในมหาวิทยาลัย จึงได้เลือกสถานที่ตั้งบนเนินยอดเขาทางใต้ของมหาวิทยาลัย อันเป็นตำแหน่งสูงที่สุด และสามารถมองเห็นได้ระยะไกล โดยได้กำหนดให้วิหารหันหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ที่ 13 องศา ซึ่งตรงกับทางเข้าของมหาวิทยาลัยพอดี
ส่วนรูปแบบของวิหารนั้น รองศาสตราจารย์ ดร.วันชัย ศิริชนะ เห็นว่าควรเป็นวิหารขนาดเล็ก เรียบง่าย ใช้งบประมาณก่อสร้างในวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท และยังเป็นการอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมแบบล้านนาไปด้วย และควรเป็นวิหารโล่ง แบบวัดพระธาตุลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ซึ่งมีรูปลักษณ์อันเหมาะสม จึงได้เชิญที่ปรึกษารวมทั้งผู้เชี่ยวชาญฝ่ายต่าง ๆ อาทิ อาจารย์นคร พงษ์น้อย ผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมล้านนา ซึ่งได้แนะนำว่าควรศึกษาสถาปัตยกรรมของวิหารของวัดอื่นประกอบ ได้แก่ วิหารวัดปงยางคก อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นวิหารขนาดเล็กรูปทรงแบบล้านนาเดิม และวิหารวัดไหล่หิน อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง อธิการบดีและคณะจึงได้เดินทางศึกษารูปแบบของวิหารวัดต่าง ๆ แล้ว จึงได้ข้อสรุปว่า วิหารพระเจ้าล้านทองเฉลิมพระเกียรติ จะเป็นวิหารโล่งแบบล้านนา โดยใช้วิหารของทั้ง 3 วัดเป็นต้นแบบ จากนั้นได้กำหนดรูปแบบให้สล่ารุ่ง จันทร์ตาบุญ ผู้ก่อสร้างหอคำหลวงในงานพืชสวนโลก เมื่อปี พ.ศ. 2549 ดำเนินการออกแบบ
หลังจากที่ออกแบบแล้ว มหาวิทยาลัยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญหลายท่านมาให้คำแนะนำ จนกระทั่งได้รูปแบบที่เหมาะสมและเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย โดยรูปลักษณ์ของวิหารพระเจ้าล้านทองเฉลิมพระเกียรติฯ เป็นแบบสถาปัตยกรรมล้านนา มีลักษณะเป็นวิหารโล่ง โครงสร้างรากฐานของวิหารเป็นแบบก่ออิฐถือปูน โครงสร้างเครื่องบนทำด้วยไม้เต็งทั้งหมด เป็นลักษณะม้าต่างไหม หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินขอ หลังคามี 4 ซด 3 ตับ สันหลังคาซดที่ 3 มีการประดับปูนปั้นที่เรียกว่า ปราสาทเฟื่อง ช่อฟ้าทำด้วยไม้แกะสลัก ปิดทองที่อกด้านหน้า ทางเข้าทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายตกแต่งด้วยปูนปั้นแบบจิ๋นปิดทอง เชิงบันไดเป็นเหงาหรือหางวัน
ตัววิหารมีขนาดกว้าง 8.94 เมตร ยาว 20.05 เมตร พื้นที่ใช้สอย 180 ตารางเมตร การตกแต่งบริเวณโดยรอบยึดแนวคติทางจักรวาล กล่าวคือ มีการใช้กรวดสีขาว หมายถึงทะเลสีทันดร ตัวบันไดด้านหน้า หมายถึงสะพานสายรุ้ง ส่วนวิหารเปรียบประหนึ่งเขาพระสุเมรุ การก่อสร้างวิหารพระเจ้าล้านทองเฉลิมพระเกียรติฯ ใช้เวลาทั้งสิ้น 377 วัน โดยเริ่มต้น เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2549 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2550 งบประมาณค่าก่อสร้างประมาณ 9,000,000 บาท (เก้าล้านบาทถ้วน) ทั้งนี้ได้รวมถึงผู้มีจิตศรัทธาบริจาคสมทบทุนในการจัดสร้างครั้งนี้ด้วย
ในระหว่างดําเนินการจัดสร้างพระเจ้าล้านทอง เฉลิมพระเกียรติฯ และวิหารพระเจ้าล้านทอง เฉลิมพระเกียรติฯ นั้น สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร) ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ได้ประทานพระบรมสารีริกธาตุให้แก่มหาวิทยาลัยจํานวนสามองค์ เพื่อนําไปบรรจุในพระเศียรของพระเจ้าล้านทอง เฉลิมพระเกียรติฯ ที่ได้จัดสร้างขึ้น
เมื่อการจัดสร้างพระเจ้าล้านทอง เฉลิมพระเกียรติฯ และวิหารพระเจ้าล้านทอง เฉลิมพระเกียรติฯ ได้ดําเนินการเป็นที่เรียบร้อย มหาวิทยาลัยได้ขอพระราชทานกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดําเนินทรงประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุลงในพระเศียรพระเจ้าล้านทอง เฉลิมพระเกียรติฯ พร้อมทั้งทรงประกอบพิธียกช่อฟ้าวิหารพระเจ้าล้านทอง เฉลิมพระเกียรติฯ ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2551
พิธีมหาพุทธาภิเษกพระเจ้าล้านทองเฉลิมพระเกียรติฯ เมื่อวันที่ 17-19 พฤษภาคม 2550 ณ มณฑลพิธีอาคารเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา บรมราชินีนาถ